welcome

(: ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บบล็อก ภาษาไทยเรื่องมหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดก :)

วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

ความเป็นมา

ความเป็นมา
        พุทธศาสนิกชนชาวไทยนับถือกันมาแต่ครั้งโบราณว่า  มหาเวสสันดรเป็นชาดกที่สำคัญกว่าชาดกเรื่องอื่น  เพราะว่าด้วยเรื่องราวที่ปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์อยู่โดยบริบูรณ์ทั้ง ๑๐  บารมีและพุทธศาสนิกชนชาวไทยก็นิยมฟังเทศน์มหาชาติกันตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งอาจจะเป็นด้วยเหตุผลสำคัญ    ประการ คือ
           ๑.  เชื่อกันว่ามหาเวสสันดรชาดกเป็นพระพุทธวจนะซึ่งพระพุทธเจ้าได้เทศนาแก่พระภิกษุสงฆ์ ณ นิโครธารามมหาวิหาร  และการได้สดับพระพุทธวจนะทั้งหลายย่อมเป็นศิริมงคลแก่ตน
           ๒.  เชื่อในพระมาลัยสูตรว่า  พระศรีอริยเมตไตรยเทพบุตรผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อจากพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน  ได้มีเทวโองการสั่งพระมาลัยเถระผู้มีบุญญาภินิหารอย่างยิ่งว่าผู้ใดมีความปรารถนาใคร่พบพระศรีอริยเมตไตรย (ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสมัยที่มีแต่ความสุขและความสมบูรณ์อย่างที่สุด) ให้บุคคลผู้นั้นฟังเทศน์มหาเวสสันดรชาดกอันประกอบด้วยพระคาถาถึงพันคาถาให้จบภายในวันเดียว  ด้วยความตั้งใจฟังอย่างยิ่ง  และด้วยเหตุที่เชื่อว่า  มหาเวสสันดรชาดกจะเสื่อมและสูญหายไปก่อนชาดกอื่นๆ  จึงควรฟังมหาเวสสันดรชาดกกันอยุ่เนืองๆ  เพื่อมิให้เสื่อมสูญไป
            ๓. การเทศน์มหาชาติ  ผู้เทศนาจะเทศน์เป็นทำนองไพเราะ  ใส่อารมณ์ในน้ำเสียง  ซึ่งมีทั้งบทโศก  สนุกสนาน  ฯลฯ  จึงทำให้เกิดปีติโสมนัสในการฟังเทศน์มหาชาติ
 นอกจากนี้ยังมีผู้นำมหาเวสสันดรชาดกไปแต่งเป็นภาษาไทยอีกหลายสำนวน  และใช้คำประพันธ์หลายชนิด  เช่น  กลอน  ฉันท์  กาพย์  ลิลิต  และร้อยแก้ว  รวมทั้งยังมีมหาเวสสันดรชาดกที่เป็นภาษาถิ่นอีกหลายฉบับ ดังนี้
            ๑.มหาชาติภาคกลาง  เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐  กรมศึกษาธิการได้รวบรวมมหาชาติสำนวนต่างๆ  และคัดเลือกสำนวนที่มีความไพเราะมากที่สุดได้ครบทั้ง  ๑๓  กัณฑ์  นำมารวบรวมและพิมพ์เป็นเล่มสำหรับใช้เป็นแบบเรียนภาษาไทย  เรียกว่า  มหาเวสสันดรชาดก  อันประกอบด้วยกัณฑ์ต่างๆ ที่มีผู้แต่ง 6 ท่าน ดังนี้
กัณฑ์ทศพร  กัณฑ์หิมพานต์  กัณฑ์วนปเวสน์  กัณฑ์จุลพน  กัณฑ์สักบรรพ  กัณฑ์มหาราช  กัณฑ์ฉกษัตริย์  และนครกัณฑ์  พระนิพนธ์  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
                             กัณฑ์วนปเวสน์  กัณฑ์จุลพน  และกัณฑ์สักกบรรพ  พระราชนิพนธ์  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                             กัณฑ์กุมาร  กัณฑ์มัทรี  งานนิพนธ์  เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
                             กัณฑ์มหาพน  งานนิพนธ์  พระเทพโมลี (กลิ่น)
                             ทานกัณฑ์  งานนิพนธ์  สำนักวัดถนน
                             กัณฑ์ชูชก  งานนิพนธ์  สำนักวัดสังข์กระจาย
          ๒. มหาชาติภาคเหนือ สำนวนที่น่าสนใจ  ได้แก่  มหาชาติสำนวนสร้อยสังกร  เป็นสำนวนที่รวบรวมโดย  พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ฟู อตตสิโว)  แต่งเป็นร่ายยาว  ที่มีคำคล้องจองสัมผัสกันไปในแต่ละวรรค  เป็นมหาชาติที่มีเนื้อความและสำนวนภาษาคล้ายกับมหาชาติของภาคเหนืออีกสำนวนหนึ่ง  ที่เรียกว่า  สำนวนไม้ไผ่แจ้เจียวแดง  ซึ่งเชื่อว่าแต่งในสมัยอยุธยา  และเป็นต้นแบบของมหาชาติภาคเหนืออื่นๆ
ความโดดเด่นของมหาชาติภาคเหนือ  คือการใช้คำง่ายๆ  ไม่เน้นการพรรณนาความอย่างพิสดาร  แต่มีการเล่นคำซ้ำที่ต้นวรรค
         ๓.มหาชาติภาคอีสาน  มหาชาติที่พบในภาคอีสานนั้นมีหลายสำนวน  แต่ละวัดต่างใช้ฉบับของท้องถิ่นและคัดลอกสืบต่อมา การคัดลอกนี้อาจมีการเพิ่มเติมเสริมแต่งหรือย่อให้สั้นเอาแต่เฉพาะใจความสำคัญหรืออาจแต่งขึ้นมาเป็นสำนวนใหม่
         ๔.มหาชาติภาคใต้  สำนวนที่น่าสนใจ  เช่น  พระมหาชาดก  ฉบับวัดมัชฌิมาวาส  จังหวัดสงขลา  ซึ่งไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง  ทราบเพียงชื่อผู้ที่ทำการคัดลอก  คือ  พระภิกษุญีมเซ่า  คัดลอกลงในสมุดข่อย  เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๕  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยแต่งเป็นกาพย์ยานี ๑๑  กาพย์ฉบัง ๑๖  กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ และมาลินีฉันท์ ๑๕